รู้จักจิตแพทย์ (Psychiatrist)

จิตแพทย์ คืออะไร

จิตแพทย์ (Psychiatrist) คือ แพทย์ผู้รักษาโรคทางจิต ซึ่งมีอาการแสดงความรู้สึก ความคิด อารมณ์ หรือพฤติกรรมที่ผิดปกติ
และจิตแพทย์ คือ แพทย์ผู้ที่ผ่านการอบรม สอบได้วุฒิบัตรหรืออนุมัติบัตร ทางด้านจิตเวช
ดังนั้นการเป็นจิตแพทย์ คือ เรียนแพทย์ทั่วไป (6 ปี) จากนั้นเรียนต่อเฉพาะทางด้านจิตเวช อีก 3 ปี สำหรับจิตแพทย์ทั่วไป หรือจิตแพทย์ผู้ใหญ่หรือ 4 ปีสำหรับจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

จิตแพทย์  รักษาอะไร หรือทำอะไรได้บ้าง 

1. ให้คำปรึกษา แนะนำ 
    ในกรณีคือไม่ได้เจ็บป่วย สามารถรับคำปรึกษาได้ พบบ่อย ๆ ได้แก่ ปัญหาครอบครัว ปัญหาเรื่องลูก ปัญหาการเรียน ปัญหาชีวิตคู่ ปรึกษาก่อนแต่งงาน ปัญหาความขัดแย้งในใจ 

2. โรคทางจิตเวช (Psychiatric disorders) 
    พบบ่อยได้แก่ โรคซึมเศร้า โรคจิตเภท โรควิตกกังวล โรคอารมณ์สองขั้ว เป็นต้น ซึ่งเป็นโรคที่สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากความผิดปกติของ "สารสื่อประสาท" (neurotransmitter) ในสมอง

3. โรคทางระบบประสาท (Neurology) และประสาทจิตเวช (Neuropsychiatry) 
    กลุ่มนี้มักเป็นสิ่งที่หลายคนไม่ทราบว่าจิตแพทย์สามารถตรวจรักษาได้ ได้แก่ โรคที่เกิดจากความผิดปกติ "โครงสร้าง"บางส่วนของสมอง แล้วมีผลทำให้เกิดปัญหาเรื่องอารมณ์ พฤติกรรมและอาการทางจิต เช่น โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) ภาวะบาดเจ็บที่สมอง (Traumatic brain injury) เป็นต้น 

4. เป็นส่วนหนึ่งในทีมรักษาร่วมกับแพทย์สาขาอื่นๆ 
    ในปัจจุบันจิตแพทย์มักเป็นถูกรวมเข้าในทีมการรักษาต่างๆ เพื่อร่วมกันดูแลรักษาในแบบองค์รวม เช่น หน่วยผู้ป่วยวาระสุดท้าย (end of life care) , หน่วยรักษาความเจ็บปวด (pain unit) , การปลูกถ่ายอวัยวะ (organ transplantation) หน่วยโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke unit) เป็นต้น ซึ่งจะประกอบด้วยแพทย์หลายสาขาร่วมกันดูแล และที่มักจะขาดไม่ได้คือจิตแพทย์ด้วย 

  จะเห็นได้ว่าบทบาทของจิตแพทย์นั้นไม่ได้จำกัดอยู่แค่คำว่า บ้าเท่านั้น แต่หากเป็นอย่างอื่น หรือไม่เป็นอะไรเลยแค่อยากปรึกษา ก็สามารถไปพบจิตแพทย์ได้ 

 ต่างจาก นักจิตวิทยา อย่างไร

 นักจิตวิทยา ไม่ใช่หมอดู และ นักจิตวิทยาก็ไม่ใช่หมอ หรือที่เราเรียกกันว่า จิตแพทย์

 การเป็นนักจิตวิทยาคลินิกได้  ต้องเรียนหลักสูตรปริญญาตรี 4 ปี สาขาจิตวิทยาคลินิค ต่อด้วยหลักสูตรอบรมอีก 6 เดือน และสอบเพื่อให้ได้ใบประกอบโรคศิลปสาขาจิตวิทยาคลินิก

ลักษณะการทำงานในโรงพยาบาล

หากถือว่าคลินิคจิตเวชเป็นบริษัทหนึ่ง 
จิตแพทย์จะเปรียบเสมือน หัวหน้า ซึ่งมีนักจิตวิทยาคลินิก พยาบาลจิตเวช นักสังคมสงเคราะห์จิตเวช ฯลฯ เป็นทีมงาน

สมมติว่า นาย ก เดินเข้ามา ต้องเข้ามาพบจิตแพทย์เพื่อพูดคุย ซักถามประวัติ วินิจฉัยโรค ให้การบำบัดรักษา โดยการจ่ายยาหรือทำจิตบำบัดรูปแบบต่างๆ หากแพทย์ต้องการได้ข้อมูลของนาย ก เพิ่มเติมนอกเหนือจากการซักถามพูดคุย เช่น นาย ก ไอคิวเท่าไหร่? หรือ นาย ก เริ่มมีลักษณะความคิดที่ผิดไปจากความจริงมั้ย? หรือเห็นว่านาย ก ควรได้รับการพูดคุยเพื่อช่วยเยียวยาจิตใจต่อเนื่อง
ก็จะส่งต่อมาที่นักจิตวิทยาคลินิก เพื่อ
1.ทำแบบทดสอบต่างๆด้วยเครื่องมือที่มีมาตรฐาน โดยแบบทดสอบ เช่น แบบทดสอบเชาวน์ปัญญา แบบทดสอบบุคลิกภาพ ฯลฯ ซึ่งจะเลือกใช้ตามแต่ที่แพทย์ต้องการข้อมูล เมื่อทำแบบทดสอบเสร็จสิ้น ก็ต้องรายงานผลให้แพทย์เจ้าของไข้ทราบทุกครั้ง
2.ให้คำปรึกษา หรือ ทำจิตบำบัดรูปแบบต่างๆ

เหล่านี้คือความแตกต่างกันของจิตแพทย์กับนักจิตวิทยาคลินิกอย่างคร่าวๆ


ขอบคุณข้อมูลจาก
1.เพจ facebook TU  Psychiatry 
2.ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี



Page : [1] [2] [3] [4] [5] [6] [7] [8] [9] [10] [11] [12] [13] [14] [15] [16] [17] [18] [19] [20] [21] [22] [23] [24] [25] [26] [27] [28] [29] [30] [31] [32] [33] [34] [35] [36] [37] [38] [39] [40] [41] [42] [43] [44]