โรคกลัวการเข้าสังคม (Social Phobia)


คืออะไร

          อาการวิตกกังวลว่าตัวเองจะเผลอทำอะไรเปิ่น ๆ เชย ๆ หรือทำพลาดให้ต้องอับอาย กลัวถูกวิพากษ์วิจารณ์จากคนรอบข้าง เหมือนอาการของคนตื่นเต้นแบบปกติทั่วไป

          แต่สำหรับผู้ป่วยโรคกลัวการเข้าสังคม (Social Phobia) จะประหม่ามาก และไม่สามารถบังคับตัวเองให้ไม่ขลาดกลัวการเข้าสังคมได้เลย มักแอบแฝงอยู่ในตัวบุคคลที่ดูเป็นปกติสุขดี ร่างกายแข็งแรง และไม่มีทีท่าว่าป่วย เพราะอาการของโรคจะก้ำกึ่งอยู่ระหว่างความขี้อาย ประหม่า กลัวขายหน้า ตามสถานการณ์ตื่นเต้นทั่วไปใครๆก็เป็น เลยทำให้ผู้ป่วยหลายคนที่ป่วยเป็นโรคกลัวสังคมไม่รู้ตัว
 


         เกิดขึ้นกับทุกช่วงอายุ ทั้งเพศชายหญิง มีโอกาสเป็นโรคนี้เท่า ๆ กัน 
            มักเด่นชัดในช่วงวัยเด็กจนถึงช่วงวัยรุ่น เป็นเพราะช่วงวัยนี้เป็นช่วงที่เริ่มต้องเข้าสังคมมากขึ้น ส่วนมากจะขาดความมั่นใจในตัวเอง และคิดว่าตัวเองมีปมด้อยที่น่าอับอาย ซึ่งเป็นความคิดที่ลดคุณค่าของตัวเองลงโดยไม่รู้ตัว จนเกิดความขลาดกลัวการเข้าสังคมในที่สุด

           ในวัยเด็ก เด็กขี้อายเป็นเรื่องปกติของช่วงวัยเด็ก แต่สำหรับที่เข้าข่ายเป็นโรคนี้จะแตกต่างออกไป เด็กเหล่านี้ไม่กล้าแม้แต่เล่นกับเด็กคนอื่น อายถึงขั้นหวาดกลัวการพูดกับผู้ใหญ่ ไม่สบตาใครขณะพูดและมักจะไม่ยอมไปโรงเรียน

           ในวัยผู้ใหญ่ มักจะมีอาการสืบเนื่องมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก หรือเป็นวัยรุ่น โดยที่ไม่ได้รับการรักษาเยียวยาให้หายหวาดกลัวการเข้าสังคม


อาการโรคแบ่งออก  3 ประเภท

 อาการแสดงทางอารมณ์และความคิด

 1. รู้สึกประหม่าทุกครั้งที่ต้องพูดกับบุคคลอื่นหรืออยู่ต่อหน้าคนอื่นก็พูดไม่ออก

 2. วิตกกังวลอย่างมาก ว่าคนอื่นจะวิพากษ์วิจารณ์และคิดอย่างไร กับตัวเอง

 3. เครียดล่วงหน้าเป็นวันหรือสัปดาห์ เมื่อรู้ว่าต้องปรากฏตัวต่อหน้าสาธารณชน

 4. กลัวว่าตัวเองจะแสดงอาการหน้าขายหน้าออกไป

 
5. กลัวคนอื่นจะจับสังเกตได้ว่ากำลังรู้สึกประหม่าอยู่

 อาการทางกายและพฤติกรรม      
                                 
       อาย   หน้าแดง  เขินจนบิด   ไม่กล้าสบตา  เสียงสั่น   พูดตะกุกตะกัก   หายใจหอบถี่กระชั้น   ใจเต้นแรง แน่นหน้าอก เหงื่อแตก  หน้ามืด   วิงเวียนศีรษะ  ปั่นป่วนในท้อง  บางรายถึงกับอาเจียน

 พฤติกรรมที่บ่งชี้อาการ

   1. ชอบปลีกตัวหลบอยู่คนเดียวบ่อย ๆ เพราะกลัวการเผชิญหน้ากับบุคคลอื่น

  2. มนุษยสัมพันธ์ค่อนข้างต่ำ และรักษาความเป็นเพื่อนไว้ได้ยาก

  3. ไม่กล้าทำอะไรด้วยตัวเอง ต้องมีเพื่อนอยู่ข้าง ๆ ตลอดเวลา

  4. ไม่กล้าแสดงออกขั้นรุนแรง

  5. ผู้ใหญ่บางรายอาจดื่มแอลกอฮอล์ย้อมใจทุกครั้งก่อนเผชิญหน้ากับคนหมู่มาก
 


ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดอาการหวาดกลัวสังคม

          หากอยู่ในสถานการณ์ปกติ อาการโรคหวาดกลัวสังคมคงไม่แสดงออกมาให้เห็นได้ชัดเจนนัก

          แต่หากได้รับการกระตุ้นจากปัจจัยภายนอกบางอย่างทำให้เกิดอาการดังกล่าวขึ้นมาได้ เช่น

          1. เมื่อต้องพบเพื่อน หรือต้องทำความรู้จักกับคนใหม่ ๆ

         2. กำลังตกเป็นเป้าสายตาถูกล้อ แซว หรือกล่าวถึง

         3. ถูกจับจ้องเวลาที่ทำอะไร รู้สึกว่าโดนแอบมอง เวลาไปออกเดท

         4. จำเป็นต้องพูดคุยกับใครเป็นบทสนทนาสั้น ๆ หรือเมื่อต้องเข้าสอบ หรือถูกทดสอบ

         5. เมื่อต้องพูดในที่สาธารณะ แสดงบนเวที หรือหน้าชั้นเรียน ในที่ประชุม

         6. เมื่อต้องพูดคุยกับคนสำคัญ หรือบุคคลที่มีอิทธิพลเหนือกว่าตัวเอง

         7. เมื่อเป็นฝ่ายโทรศัพท์ หรือติดต่อผู้อื่นก่อน

         8. เวลารับประทานอาหารในที่สาธารณะ เวลาไปงานปาร์ตี้


โรคกลัวการเข้าสังคม มีผลกระทบกับชีวิตอย่างไร ?

       ผลกระทบกับชีวิตการงาน และการเรียน

         1.ไม่กล้าไปสัมภาษณ์งาน ไม่กล้าแสดงออกในที่ประชุม หรือหน้าชั้นเรียน

        2. มีปัญหากับการติดต่อประสานงานกับหัวหน้า หรือเพื่อนร่วมงาน

        3. ลังเลที่จะตัดสินใจรับตำแหน่ง หรือหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย

        4.ไม่มีความสุขและประสิทธิภาพในการทำงาน และการเรียนถดถอย 

      ผลกระทบกับความสัมพันธ์

        1. มีปัญหาในการสานสัมพันธ์ รูปแบบเพื่อนหรือคนรัก คบไม่ได้นาน

        2.ไม่กล้าเปิดใจรับใครเข้ามา

        3.ไม่กล้าแชร์ความคิดเห็นร่วมกับบุคคลอื่น

     ผลกระทบกับชีวิตประจำวัน

         เสียโอกาสได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ทำให้ไม่ได้พัฒนาตนเองอย่างที่ควรพลาดโอกาสดี ๆ ในชีวิต ขังตัวเองอยู่ในโลกส่วนตัว กลายเป็นคนโลกแคบได้


การวินิจฉัยโรค

          จิตแพทย์จะวินิจฉัยโรคเมื่อบุคคลนั้นมีอาการกลัวสังคมต่อเนื่องกันนานเกิน 6 เดือน โดยเฉพาะวัยเด็กไปจนถึงวัยรุ่น โดยสอบถาม สังเกตอาการระหว่างที่พูดคุย หากว่ามีอาการวิตกกังวลและหวาดกลัวต่อบุคคลอื่น แม้จะใช้ชีวิตตามปกติของตัวเองก็ทำได้ลำบาก 


 แนวทางการรักษา 2 วิธี  
 
      1. การรักษาด้วยวิธีจิตวิทยา
              จิตแพทย์บำบัดด้วยการรับรู้และพฤติกรรม ถือว่าเป็นแนวทางการรักษาโรคกลัวการเข้าสังคมที่เหมาะสมมาก โดยจิตแพทย์จะพยายามโน้มน้าวผู้ป่วยให้เปลี่ยนความคิด ปรับพฤติกรรม และเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาอาการกลัวสังคมของตัวเอง เพื่อให้เขารู้สึกประหม่าและวิตกกังวลน้อยลง รวมทั้งเปิดโอกาสให้เขาเรียนรู้การเข้าสังคมมากขึ้นด้วย 

         2. การรักษาด้วยยา
               จิตแพทย์สั่งยาลดอาการซึมเศร้า (Antidepressants) และยาระงับความวิตกกังวล (Anti-Anxiety) ซึ่งระดับความรุนแรงของยาสามารถจำแนก 3 ระดับ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ  ควรอยู่ภายใต้การวินิจฉัยของแพทย์


           แม้โรคกลัวการเข้าสังคมจะดูไม่เป็นอันตรายกับสุขภาพของเราเท่าไร แต่ก็มีผลกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วยไม่น้อยเลยทีเดียว
            ดังนั้นหากคุณ หรือคนรอบข้างมีความสุ่มเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคนี้ ควรรีบปรึกษาจิตแพทย์ โดยด่วน


 

Thai Social Phobia เกี่ยวกับ โรคกลัวสังคม


ขอขอบคุณข้อมูล จากhttp://health.kapook.com/view84729.html



Page : [1] [2] [3] [4] [5] [6] [7] [8] [9] [10] [11] [12] [13] [14] [15] [16] [17] [18] [19] [20] [21] [22] [23] [24] [25] [26] [27] [28] [29] [30] [31] [32] [33] [34] [35] [36] [37] [38] [39] [40] [41] [42] [43] [44]