เฮโรอีน (Heroin)


ประเภทของยาเฮโรอีน

     
เป็นยาเสพติดจากการสังเคราะห์มอร์ฟีน มีชื่ออื่นเช่น ผงขาว แค็ป ไอระเหย
       จัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 (ชนิดร้ายแรง) ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522


ลักษณะ 

    เฮโรอีนที่แพร่ระบาดในประเทศไทย แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ

    1. เฮโรอีนบริสุทธิ์ 
        มีลักษณะเป็นผงละเอียดสีขาว มีเนื้อเฮโรอีนสูงถึง 90-95% ไม่มีกลิ่น รสขมจัด นิยมเรียกว่า ผงขาว มักบรรจุในถุง ห่อกระดาษ พลาสติก หรือหลอด ส่วนใหญ่เสพโดยวิธีฉีดหรือสูบ

    2. เฮโรอีนผสม 
        มีลักษณะเป็นเกล็ด ไม่มีกลิ่น รสขมจัด มีเนื้อเฮโรอีน 5-20% และผสมสารอื่น เช่น สารหนู สตริกนิน กรดประสานทอง น้ำกัญชาต้ม ยานอนหลับ และเจือสีต่างๆ มักพบบรรจุอยู่ในซองพลาสติกหรือห่อ กระดาษ นิยมเสพโดยวิธีสูดไอระเหย ดังนั้นจึงมีคนเรียกเฮโรอีนชนิดนี้ว่า ไอระเหย หรือ แคป


การออกฤทธิ์ 

        เฮโรอีนออกฤทธิ์แรงกว่ามอร์ฟีนประมาณ 4-8 เท่า และออกฤทธิ์แรงกว่าฝิ่น ประมาณ 30-90 

        ออกฤทธิ์รุนแรงในทางกดประสาท ได้แก่ ศูนย์ประสาทส่วนการหายใจ สมองส่วนหน้า กดประสาทส่วนไขสันหลัง และออกฤทธิ์ปฏิกิริยาต่อระบบประสาทส่วนต่างๆของร่างกาย เช่น ระบบทางเดินอาหาร ระบบขับถ่ายปัสสาวะและระบบการไหลเวียนของโลหิตในร่างกาย 

        ผู้ที่ไม่เคยเสพเฮโรอีน เมื่อเสพอาจติดได้ง่ายกว่าฝิ่นหรือมอร์ฟีน เพราะมีฤทธิ์เข้มข้นรุนแรง เฮโรอีนมีฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง มีผลระงับอาการปวดที่รุนแรงได้ รู้สึกสบาย เคลิบเคลิ้ม เซื่องซึม ง่วงนอน ไม่สนใจสิ่งรอบข้าง ถ้าเสพเข้ามากเกินความต้านทานของร่างกายอาจทำให้หัวใจหยุดเต้นถึงตายได้


        สำหรับผู้ที่เสพจนติด ร่างกายทรุดโทรม ขอบตาคล้ำ ดวงตาเหม่อลอย น้ำหนักตัวลดอย่างรวดเร็ว สมองและประสาทเสื่อม ความคิดสับสน

        ผู้ที่เสพติดยาเสพติดประเภทนี้ มีลักษณะสังเกต คือ ร่างกายซูบซีดผอมเหลือง นัยน์ตาเหลืองซีด ม่านตาหรี่ไม่กล้าสู้แสง (มักสวมแว่นกันแดด) ริมฝีปากเขียวคล้ำ ง่วงเหงาหาวนอนตลอดและมีอาการเฉยเมยต่อสิ่งแวดล้อม บางคนกลายเป็นคนฟุ้งซ่าน เกียจคร้านหรือมีอารมณ์เปลี่ยนแปลง อาจพบร่องรอยบางอย่าง เช่น จมูกแดง มีผงติดตามจมูก มีรอยเข็มด้านในท้องแขน นอกจากนี้ยังมียาหรืออุปกรณ์การเสพ เช่น ผงสีขาวในถุงในแคปซูล ช้อนคีบ กระบอกและเข็มฉีดยา ฯลฯ ซุกซ่อนอยู่ตามที่ที่ปกปิดมิดชิด


การบำบัด

       การเลิกเสพเฮโรอีน ต้องทำภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์เชี่ยวชาญ เพราะการเลิกเสพจะทำให้เกิดอาการถอนยาหรือขาดยา มีอาการตั้งแต่จาม ตะคริว หนาวสั่น ใจสั่น อาเจียนจนถึงชักหมดสติอาจถึงตายได้หากไม่ได้รับการรักษา

ขั้นตอนการบำบัดรักษามี 4 ขั้นตอนดังนี้

      1. ขั้นเตรียมการ
          เป็นการเตรียมตัวผู้ติดยาเสพติดให้พร้อมที่จะเข้ารับการบำบัดรักษาให้เกิดความเชื่อมั่นและมีความตั้งใจจริงที่จะเลิกยาเสพติด นอกจากนี้ต้องเตรียมความพร้อมครอบครัว ผู้ใกล้ชิดให้เข้ามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาต่างๆ

      2. ขั้นถอนพิษยา
          ในขั้นตอนนี้ผู้ติดที่มีความตั้งใจที่จะเลิก โดยการหยุดเสพแล้วจะมีความอยากและความต้องการยาเสพติดอยู่เหมือนเช่นเคย ดังนั้น การบำบัดรักษาจะเลือกใช้วิธีการใดขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ใช้ ปริมาณการใช้และความตั้งใจของผู้ติดหากเสพในปริมาณมากและเป็นเวลานาน จะมีอาการถอนพิษยาเช่น หาวนอน น้ำมูก น้ำตาไหล เหงื่อออกมาก มีอาการทุรนทุราย หงุดหงิด ปวดกล้ามเนื้อ ปวดท้อง ท้องเดิน อาเจียน รายที่รุนแรงอาจถ่ายเป็นเลือดที่ชาวบ้าน เรียกว่า “ลงแดง” หรือมีอาการชักเกิดขึ้น เพราะอาการต่างๆ อาจรุนแรง ถึงชีวิตได้
          แต่หากเริ่มเสพมาไม่นานและมีความตั้งใจที่จะเลิกจริงๆ วิธีที่ดีที่สุด คือ การหยุดใช้ยาเองหรือที่เรียกว่า “หักดิบ” พักผ่อนให้เต็มที่ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายให้ร่างกายแข็งแรงก็สามารถถอนพิษยาออกจากร่างกายได้ในที่สุด โดยใช้เวลาไม่นานกว่า 15 วัน

      3. ขั้นฟื้นฟูสมรรถภาพ
          เป็นการปรับสภาพร่างกายและจิตใจของผู้เลิกยาเสพติดให้มีความเข้มแข็ง ปรับเปลี่ยนบุคลิกภาพ ความคิด ความรู้สึกและพฤติกรรมให้สามารถกลับสู่สังคมได้อย่างปกติ 

      4. ขั้นติดตามดูแลหลังรักษา
          เป็นการติดตามดูแลผู้เลิกยาเสพติดที่ผ่านการบำบัดรักษา ทั้ง 3 ขั้นตอน เพื่อให้คำแนะนำปรึกษา ให้กำลังใจ ทั้งนี้เพื่อมิให้หวนกลับไปเสพยาเสพติดซ้ำ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://www.oocities.org/palanamai/heroin.htm



Page : [1] [2] [3] [4] [5] [6] [7] [8] [9] [10] [11] [12] [13] [14] [15] [16] [17] [18] [19] [20] [21] [22] [23] [24] [25] [26] [27] [28] [29] [30] [31] [32] [33] [34] [35] [36] [37] [38] [39] [40] [41] [42] [43] [44]