โรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่    ADHD   
(Attention Deficit Hyperactivity Disorder)


ส่วนใหญ่คิดว่าโรคสมาธิสั้นพบได้เฉพาะในเด็กเท่านั้น แล้วผู้ใหญ่เป็นโรคสมาธิสั้นได้?

      ถ้าคุณมาทำงานสายเป็นประจำ ลืมนัดสำคัญกับลูกค้า ทำงานตกๆหล่นๆ ถูกเจ้านายตำหนิว่าไม่รับผิดชอบบ่อยครั้ง จัดระเบียบการทำงานไม่ได้ งานค้างส่งทันบ้างไม่ทันบ้าง บางครั้งเครียดจนนอนไม่หลับ บางทีคุณอาจกำลังเป็นโรคสมาธิสั้นก็ได้ คนในวัยทำงานหลายคนเป็นโรคสมาธิสั้นโดยที่ไม่รู้ตัว


สมาธิสั้น ADHD  (Attention Deficit Hyperactivity Disorder)
 
   
       เกิดจากสารสื่อประสาทในสมองที่ชื่อว่า Dopamine ทำงานบกพร่องหรือมีปริมาณน้อยกว่าปกติ ซึ่งเป็นโรคที่เกิดในวัยเด็กแต่จะเป็นต่อเนื่องจนถึงวัยผู้ใหญ่ โรคนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับระดับสติปัญญา เด็กสมาธิสั้นหลายคนที่ได้รับการรักษาสามารถเรียนได้เหมือนเด็กปกติ  

       ลักษณะที่สำคัญของคนที่เป็นโรคสมาธิสั้น คือ ไม่สามารถจัดการกับเวลาได้เมื่อต้องทำงานที่มีกำหนดเวลา บางครั้งทำไม่ทัน หรือทันแบบจวนตัว  

      อาการที่พบบ่อยในคนวัยทำงานที่เป็นโรคสมาธิสั้น

        1. มีปัญหาในการทำที่ต้องใช้สมาธิ เช่น เหม่อลอยเวลาต้องคุยธุระ วอกแวกง่าย ฟังอะไรจับใจความ
           ไม่ค่อยได้ ทำงานผิดพลาดเพราะประมาท
 

        2. ขี้ลืมและมีปัญหาการจัดงานให้เป็นระบบ เช่น โต๊ะทำงาน ห้องพักรกและไม่เป็นระเบียบอย่างมาก
            หาอะไรจะหาไม่พบเสมอ มักผัดวันประกันพรุ่ง มาสายประจำ ทำของหายบ่อยๆหรือจำไม่ได้ว่าวาง
            ไว้ที่ไหนเช่น กุญแจ, กระเป๋าเงิน) ไม่สามารถทำงานเสร็จทันเวลาที่กำหนด
 

        3. หุนหันพลันแล่น เช่น พูดแทรกเวลาคนอื่นพูด ไม่ค่อยคิดก่อนทำและพูดทำให้เกิดปัญหากับตนเอง
            หรือคนรอบข้างบ่อยครั้ง
  

        4. เบื่อง่าย เช่น มีความรู้สึกอึดอัดเวลานั่งเฉยๆนานๆ เช่น เวลาประชุมนานจะรู้สึกกระวนกระวายใจ
            ชอบอะไรแปลกใหม่และตื่นเต้น พูดเก่ง พูดมาก

        5. มีปัญหาอารมณ์ เช่น รู้สึกไม่ประสบความสำเร็จ เครียด หงุดหงิดง่าย บางคนซึมเศร้าและวิตกกังวล
            นอนไม่หลับ เสี่ยงต่อปัญหาการติดสุราและยาเสพติดอื่นๆ


 ผลกระทบ

         -ผลกระทบทางสุขภาพร่างกายและจิตใจ
         คนที่เป็นสมาธิสั้นเมื่อทำงานไม่ประสบความสำเร็จ หรือ ทำอะไรผิดพลาดบ่อยๆ มักจะมีความเครียด และเกิดโรคซึมเศร้า วิตกกังวลตามมา บางคนหันไปหายาเสพติดเพื่อเป็นทางออกในการคลายความเครียด จึงมีความเสี่ยงในการติดบุหรี่ สุรา หรือยาเสพติดที่อันตรายอื่นๆ ไม่ใส่ใจดูแลสุขภาพ


        -ผลกระทบในการทำงาน
        มักทำงานผิดพลาดบกพร่อง เพราะความประมาท ทำงานส่งไม่ทันกำหนด จัดระเบียบในการทำงานไม่ได้ ถูกเพื่อนร่วมงานและหัวหน้าตำหนิอยู่เสมอ ทำให้เกิดความรู้สึกไม่มีคุณค่าในตนเอง


       -ผลกระทบในเรื่องความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง
        คนที่เป็นโรคสมาธิสั้น มักเป็นคนที่ใจร้อน หุนหันพลันแล่น ไม่คิดก่อนที่จะกระทำ จึงทำให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งกับคนอื่นบ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงาน คนในครอบครัวตามมาด้วยการถูกให้ออกจากงานหรือ การหย่าร้าง


การรักษาโรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่

        หากกำลังสงสัยว่าตัวคุณหรือคนใกล้ตัวเป็นโรคสมาธิสั้น ทางที่ดีที่สุดคือ การไปพบจิตแพทย์  

        วินิจฉัยโรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่ต้องประเมินด้วยความระมัดระวังและต้องประเมินโดยจิตแพทย์เท่านั้น 

       ในการประเมินโรค แพทย์จะซักประวัติจากผู้ป่วยและญาติ โดยใช้คำถามเจาะลึก ตัวอย่างเช่น
 

      “เมื่อเป็นเด็ก อาการเริ่มเมื่อใด” โรคสมาธิสั้นในเด็กมักแสดงอาการเมื่ออายุน้อยกว่า 7 ปี

       “มีระดับความรุนแรงของโรคมากน้อยแค่ไหน”

       “บ่อยแค่ไหนที่ไม่สามารถรับมือกับโรคหรือควบคุมพฤติกรรมได้”
       เกิดขึ้นอย่างน้อยสองสถานการณ์ในสถานที่อันได้แก่ บ้าน โรงเรียน สนามเด็กเล่น หรือที่ทำงาน

       “ประวัติครอบครัวว่ามีใครที่เป็นโรคสมาธิสั้นหรือไม่” 

       “การตรวจระดับสติปัญญา (IQ)” พบว่ามีระดับสติปัญญาปกติ

 

   โรคสมาธิสั้นเป็นโรคที่รักษาได้ด้วยยาและการปรับพฤติกรรม

       1. การรักษาด้วยยา ถือว่าเป็นวิธีการรักษาโรคสมาธิสั้นอย่างแรกที่แพทย์มักจะเลือกใช้ ได้แก่ 
 

       - ยากระตุ้นจิตประสาท (psychostimulant) กลุ่ม methylphenidateทำให้มีสมาธิในการทำงานและการเรียนดีขึ้น ผลข้างเคียงที่พบบ่อยคือ เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ใจสั่น นอนไม่หลับ หงุดหงิด น้ำหนักตัวลดลง
      - ยาต้านซึมเศร้า เช่น imiprimine, buspirone ถูกใช้เป็นยาขนานที่สองในการรักษา
      - ยาลดอาการเปลี่ยนแปลงอารมณ์ที่รวดเร็ว เช่น ยากลุ่ม propanalol ช่วยลดความถี่ในการระเบิดอารมณ์ที่รุนแรง
      - ยากลุ่มคลายกังวล เช่น fluoxetine    

      2. การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยนักจิตวิทยา ใช้ในกรณีผู้ป่วยมีอาการก้าวร้าวรุนแรง ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ 

      3. การปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อม (psychosocial intervention) โดยการฝึกทักษะทางสังคม เพื่อให้รู้จักสังเกตอารมณ์ของผู้อื่น รู้จักรอคอย รับฟัง เอาใจเขามาใส่ใจเรา เพื่อลดปัญหาการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น และเพื่อให้สามารถทำงานในหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความชำนาญในงานที่ทำ ไม่มีอารมณ์เครียดจนเกินไป อันจะนำไปสู่สุขภาพจิตที่ดี ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการดำรงชีวิต

      แต่ไม่ว่าจะเลือกรักษาด้วยวิธีการใด ผู้ใหญ่ที่เป็นสมาธิสั้นจะต้องรับรู้ว่า อาการสมาธิสั้นจะอยู่ติดตัวไปตลอดชีวิต ตระหนักรู้และเข้าใจศักยภาพของตนเอง และต้องได้รับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหรือนักจิตวิทยา โดยในขั้นการรักษาก็ต้องได้รับความร่วมมือ กำลังใจและความเข้าใจจากครอบครัว และผู้ใกล้ชิด เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ใหญ่สมาธิสั้นต้องการจากคนรอบข้าง จะช่วยให้เขามีชีวิตที่มีความสุขและประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก 


อาการดีได้ เพียงเปลี่ยนวิธีปฏิบัติตัว  

      นอกจากรักษาทางการแพทย์แล้ว การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมง่าย ๆ ต่อไปนี้

      1. พยายามฝึกอารมณ์ของตนเอง เช่น ไม่ควรดีใจหรือเสียใจเร็วเกินไป หรือหากโกรธ ควรจัดการกับความโกรธด้วยการระบายออกมา 

      2. จัดตารางเวลาว่าจะทำอะไรเมื่อไร เช่น ถ้าต้องเดินทางไปไหน ควรวางแผนไว้ล่วงหน้าและควรมีแผนที่ติดตัวไว้ 

      3. จัดวางสิ่งของเครื่องใช้ให้เป็นระเบียบเพื่อป้องกันการลืมทรัพย์สินและของมีค่าตามที่ต่างๆ 

      4. ทำประโยชน์ให้กับตนเองและช่วยเหลือผู้อื่นเพื่อสร้างความภาคภูมิใจ รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า
 

      5. หลีกเลี่ยงสถานที่มีผู้คนมากๆ

      6. พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ เพราะช่วยให้อาการหงุดหงิดลดลง 

      7. รับประทานอาหารที่เหมาะสมกับโรค เช่น  หลีกเลี่ยงอาหารประเภทน้ำตาลและคาเฟอีน  ควรเลือกรับประทานอาหารที่ไม่ผ่านการย้อม ขัดสี ได้แก่ ข้าวซ้อมมือ จมูกข้าวต่างๆ และรับประทานอาหารที่มีแร่ธาตุสังกะสีและแมกนีเซียม เช่นเนื้อสัตว์ อาหารทะเล ตับ ไข่แดง นม ถั่วและธัญพืช เพราะวิตามินและแร่ธาตุที่ผู้เป็นโรคสมาธิสั้นพบว่าขาดบ่อยที่สุดคือ แมกนีเซียม  ซึ่งมีผลทำให้เด็กอยู่ไม่สุข วิตกกังวล กระวนกระวาย และคลื่นไส้  

      8. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ช่วยลดพลังงานส่วนเกินและช่วยหลั่งสารเอ็นดอร์ฟิน 

        ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ อาการสมาธิสั้นล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตเช่นเดียวกัน แต่ยังไม่สาย หากหาทางแก้ไขตั้งแต่วันนี้


ขอขอบคุณข้อมูล จาก 1.http://www.healthtoday.net/thailand/scoop/scoop_112.html
                       2.
http://www.healthtoday.net/thailand/scoop/scoop_113.html



Page : [1] [2] [3] [4] [5] [6] [7] [8] [9] [10] [11] [12] [13] [14] [15] [16] [17] [18] [19] [20] [21] [22] [23] [24] [25] [26] [27] [28] [29] [30] [31] [32] [33] [34] [35] [36] [37] [38] [39] [40] [41] [42] [43] [44]